วันนี้เราจะพาเพื่อนๆชาวเว็บ iHome108 ไอเดีย โปรเจค DIY ต่อเติมครัวหลังบ้านเอง ของคุณแมวพุงพลุ้ย ที่ต่อเติมห้องครัวหลังบ้าน เพื่อรองรับการทำอาหารไทย แบบฉบับทำเองแบบค่อยเป็นค่อยไป ฝีมือดีไม่แพ้ช่างมืออาชีพ ต่อเติมครัวหลังบ้านเพื่อเอาไว้ทำอาหารไทยแท้ มีงบประมาณ ไม่เกิน 65,000 บาท ต้องแก้ปัญหาเรื่องพื้นทรุดให้ได้ สวยแค่ไหนเราไปชมกัน
ผลงาน รูปภาพ :Tm_design
เนื้อหา : iHome108
DIY โปรเจคต่อเติมครัวหลังบ้าน โดยไม่มีเสาเข็ม แต่มีวิธีต่อสู้กับพื้นทรุด By แมวพุงพลุ้ย
ผมกับแฟนเราตกลงกันว่าจะต่อเติมครัวหลังบ้านเพื่อเอาไว้ทำอาหารไทยแท้ เอกลักษณ์ของอาหารไทยประเภทรสจัดที่จะเข้าถึงรสถึงพริกถึงขิงนั้นหลายเมนูจะมีกลิ่นแรง จำพวกผัด แกง ฯลฯ – คือเรามีครัวอยู่แล้วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน แต่ว่าเป็นครัวทำหรับทำอาหารเล็กๆ น้อยๆ เช่น ต้มไข่ ทำกาแฟ ทำขนมปัง ซุปสำเร็จรูป ประเภทนี้พอได้อยู่ แต่พอจะทำอาหารประเภทผัดแล้วคงไม่ไหวแน่ๆ กลิ่นคงฉุนตลบอบอวนไปทั่วบ้าน
เมื่อตัดสินใจที่จะต่อเติมครัวไทยหลังบ้านแล้ว ปัญหาถัดมาคือ
(1) งบประมาณ เรามีไม่เกิน 65,000 บาท และ
(2) เราต้องแก้ปัญหาเรื่องพื้นทรุดให้ได้ เนื่องจากครัวของบ้านเก่าของเรา ขนาดที่ว่าตอกเสาเข็มแล้วเวลาผ่านไป 5-6 ปี เห็นรอยทรุดลงไปประมาณ 2 ซม. ได้
เรื่องของเสาเข็มนั้น ประเด็นที่เราตั้งข้อสรุปเอาไว้คือ ราคาแพง และพอตอกแล้วก็ไม่สามารถการันตีได้ว่ามันจะไม่ทรุด เพราะโครงการของหมู่บ้านเราตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นทุ่งนามาก่อน คือยังไงๆ ก็ทรุดแน่ๆ ดังนั้นเราสองคนมาออกแบบกันใหม่ ซึ่งละแวกนี้ไม่มีใครเขาเคยทำกัน คอนเซ้ปต์ใหม่ที่เราจะต่อสู้กับปัญหาดินทรุดคือเราจะต่อเติมเป็นครัวที่มีน้ำหนักเบา และวางอยู่บนหัวน็อตขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากดินทรุดแล้ว เราจะขันปรับหัวน็อตตาม เพื่อรักษาระดับของพื้นครัวให้คงที่อยู่ตลอด
(ภาพด้านล่าง ครัวสำหรับทำอาหารเบาๆ ภายในบ้าน)
แปลนที่เราเขียนส่งให้ทางฝ่ายนิติของหมู่บ้านนั้น มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) ไม่มีส่วนใดของครัวยึดติดกับตัวบ้าน เพียงแต่ติดชิดกับผนังเท่านั้น คือถ้าครัวทรุด ก็ทรุดเฉพาะส่วนของครัว ไม่มีการดึงผนังบ้านตามไปด้วย
2) มีหลังคาสองชั้นเพื่อการระบายอากาศที่ดี (เอากลิ่นผัดฉุนๆ ออกเร็วๆ)
3) ขนาด กว้าง X ยาว = 1.8 เมตร x 6 เมตร แบ่งเป็นสองส่วนคือห้องเก็บของและห้องครัว ตามรูป
4) ขนาดของน็อตที่ใช้รับน้ำหนักคือ น็อตชุบกันสนิม M36 — เส้นผ่าศูนย์กลางเกลียว 36 มม. และหัวน็อตประมาณ 55 มม. ใช้ทั้งหมด 8 ตัว
5) น้ำหนักโดยประมาณ 1.5 ตัน
เหล็กโครงพื้นที่ใช้คือขนาด 3นิ้ว X 3 นิ้ว หนา 3 มิลครับ
ขั้นตอนนี้กำลังวางโครงเหล็กครับ
สเปคของวัสดุ
-โครงเหล็กคานและเสา = 3×3 นิ้ว หนา 3 มิล
-กลอนหลังคา = 2×2 นิ้ว หนา 3 มิล
-โครงเหล็กฝาผนัง เหล็กรับน้ำหนักแผ่นพื้นไฟเบอร์ซีเมนต์ 2×1 นิ้ว หนา 2.3 มิล
ลักษณะของพื้น ผนังด้านข้าง และโครงเคาน์เตอร์ครับ
สเปควัสดุ
พื้น ใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 10 มม.
แผ่นผนัง ใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 6 มม.
แผ่นวางบนเคาน์เตอร์ ไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 12 มม.
จัดการกับระบบไฟ ระบบน้ำดีน้ำเสีย และผนังด้านนอกเป็นไม้เฌอร่า เพดานติดไม้ระแนงครับ
ชุดเครื่องดูดควัน+อ่างล้างจาน+เตาแก้สของ FRANKE ตอนนั้นลดราคาที่ Homepro ทั้งหมดรวมกัน 15,000 บาทครับ
ทำไปเรื่อยๆ นะครับ ไม่ได้รีบร้อนอะไร
เมื่อมองจากโต๊ะที่เรานั่งทานข้าวเข้าไปในครัวครับ ตรงหน้าต่างจะตรงกับหน้าเตาพอดี คือกะว่าพอทำอาหารเสร็จก็ยื่นผ่านมาทางหน้าต่างเลยครับ
ทั้งหมดนี้งบประมาณ 65,000 บาท รวมเตา + อ่างล้างจาน+ที่ดูดควันเรียบร้อยแล้ว
ระยะเวลาที่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ประมาณ 1 เดือนครับ
***เมื่อถึงเวลาพื้นทรุด สิ่งที่เราเตรียมการไว้คือ จะใช้แม่แรงยกครัวขึ้นที่ละจุดและขันหัวน็อตลงเพื่อรักษาระดับให้คงที่ครับ
และถ้าหากหมดเกลียวน็อตแล้วยังทรุดอีก ก็จะหล่อแผ่นซีเมนต์รองหัวน็อตเป็นจุดๆ ไปครับ แล้วแต่ว่าจุดไหนทรุดลงมากน้อยเท่าไหร่
มีคำถามหรือข้อเสนอแนะ หรือติชมประการใด ช่วยบอกกันครับ — สำหรับงาน DIY โปรเจคนี้ก็มีเท่านี้ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน